:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) :: .:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 มกราคม 2559


คอลัมน์ Education Ideas: ครูพันธุ์ควอลิตี้
education.pcc@gmail.com


"ครู" เป็นปัจจัยสำคัญของการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งครูผู้สอนแต่ละยุคสมัยมีลักษณะแตกต่างกันไป ตามลักษณะของผู้เรียน การจัดการการเรียนการสอนจากที่เคยยึดครูเป็นศูนย์กลาง ต่างได้รับการเปลี่ยนผ่านสู่การจัดการเรียนการสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีซึ่งครูมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป

แต่กระนั้นคำถามก็เกิดขึ้นว่าครูแบบไหนถึงเรียกว่าครูคุณภาพในยุคปัจจุบัน ?

"กุลวิชญ์ ธนวลัญช์" วัย 22 ปี อาจารย์ฝึกสอนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) กล่าวว่า การเป็นครูที่มีคุณภาพ ครูผู้สอนต้องมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาที่จะสอนอย่างแท้จริง (Expert) ไม่ใช่เพียงแต่การสอนตามหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ครูผู้สอนควรจะต้องเตรียมแผนการสอนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญ ผู้สอนควรรู้จักผู้เรียนแต่ละคน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการสอนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับ ผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่องของการเรียนรู้ได้มากกว่ามีเฉพาะการอ่าน การได้ยิน และการมองเห็นเพียงเท่านั้น

"อาจารย์พัชราภรณ์ หนังสือ" วัย 30 ปี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนอาจารย์รุ่นใหม่ กล่าวว่าโดยปกติอาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีหน้าที่หลัก ๆ 2 อย่างคือ งานสอนนักศึกษา และงานวิชาการ ทั้ง 2 หน้าที่เราต้องทำควบคู่กันไป ความยากคือการแบ่งเวลาให้ทำได้ดีทั้งสองด้าน งานวิชาการ ซึ่งก็คือการทำวิจัยเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในขณะที่งานสอน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสะท้อน ตัวตน และความสามารถของผู้สอนเช่นกัน

โดยสิ่งที่ผู้สอน หรือครูอาจารย์รุ่นใหม่ต้องตระหนักคือผู้เรียนสมัยนี้เก่งมาก สามารถคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และกล้าแสดงออกมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เนื่องจากสังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมที่มีอยู่รอบตัวได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ตัวครูอาจารย์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวทันสถานการณ์โลก (Up to date)

ขณะที่ "อาจารย์บุษยพรรณ บุญญพันธุ์" วัย 54 ปี อาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ในสภาพสังคมที่ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีแบบเต็มตัว รูปแบบการเรียนการสอนของครูผู้สอนเองมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสม กับยุคสมัย ซึ่งอายุ ไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาตนเองของครูผู้สอน แต่คือข้อได้เปรียบของครูผู้สอน เพราะจะทำให้ครูมีวิธีการสอนที่หลากหลายขึ้น (Multiskill) สามารถนำเอาข้อเด่นของการสอนแบบเก่ามาบูรณาการกับการสอนแบบใหม่ ด้วยการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

ที่สำคัญคือครูต้องไม่หยุดใฝ่เรียนรู้ ครูต้องแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด และสิ่งที่ถูกต้องที่สุดเพื่อส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กับผู้เรียน ทั้งนี้สิ่งที่หวังไว้กับลูกศิษย์ทุกคนก็คืออยากเห็นลูกศิษย์ทุกคนมีอนาคตที่ดี การมีอนาคตที่ดีนี้ไม่ได้หมายความถึงการที่ลูกศิษย์ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่คือการที่ลูกศิษย์ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

"อาจารย์ยุพนันท์ อิศรัตน์" วัย 67 ปี ข้าราชการครูบำนาญ กล่าวเสริมว่า ครูที่ดีต้องมีการเตรียมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง (Planner) เพื่อเป็นการกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ของครูผู้สอนก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสอน เป็นการวางแผน และเตรียมการล่วงหน้า เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ โดยการกำหนดองค์ประกอบต่าง ๆ ของการสอนอันได้แก่ วิธีการสอน ด้วยการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการคิดวิเคราะห์ มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการ โดยวิเคราะห์ วินิจฉัยปัญหา ความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน และ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนที่จะให้ได้ผลดีกว่าเดิม

ด้าน "ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.กล่าวว่า จากตัวอย่างการสัมภาษณ์ครูคุณภาพทั้ง 4 ท่าน จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แม้ว่าแต่ละช่วงวัยจะมีรูปแบบการสอนที่แตกต่างกัน

แต่กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพของตนเอง โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา

ดังนั้น การประเมินที่ผ่านมา สมศ.จึงกำหนดตัวบ่งชี้เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ และมีความพร้อมในการทำงานทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการให้มีความครอบคลุมระบบส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ พร้อมกับตัวบ่งชี้ข้ออื่นที่สอดคล้องกัน เช่นการให้ผู้เรียนคิดเป็นทำเป็น มีความใฝ่รู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้คุณภาพด้านการเรียนการสอนของครู ยังเป็นสิ่งสำคัญตลอดมา และตลอดไป

เพราะครูจะต้องเป็นพันธุ์ควอลิตี้ 


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::