:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) :: .:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

บทเรียนใหม่...ต้องฝึก..ต้องเรียนรู้+ทักษะเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว


“ต้องใช้เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ เมื่อเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 จนส่งผลให้โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาเสียหายจำนวนมากเป็นอุทาหรณ์ เพราะกรมทรัพยากรธรณียังระบุว่า ยังมีรอยเลื่อน 14 กลุ่มที่มีพลังทั้งประเทศ โดยมีถึง 9 กลุ่มรอยเลื่อนที่พาดผ่านเชียงราย ที่สำคัญมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้”

นายนพรัตน์ อู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 และอาฟเตอร์ช็อก จำนวนกว่า 500 ครั้ง ในห้วงระยะเวลาต่อมาแค่ 72 ชั่วโมง ซึ่งทำให้สิ่งปลูกสร้างในโรงเรียนประถมศึกษาร่วม 10 โรงเรียนที่รายงานความเสียหายเข้ามาล้วนแล้วแต่น่า “อกสั่นขวัญแขวน” กับเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หนัก เบา รุนแรงมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครพยากรณ์ล่วงหน้าได้นอกจากทุกคน ทุกชีวิต ทุกเพศวัยต้อง “พร้อมรับ พร้อมประสบภัย” อย่างมีสติ ไม่ประมาทและพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น

สิ่งปลูกสร้างประเภทอาคารเรียน อาคารประกอบต่าง ๆ ภายในโรงเรียนที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของเชียงราย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนแม่มอญวิทยา ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย อาคาร สปช.105/29 อาคาร  2 ชั้น 4 ห้องเรียนต่อเติมอีก 2 ห้องเรียน ในสภาพเสาหักร้าว 3 ต้น ผนังอาคารระหว่างชั้นเคลื่อนตัว จนนายคำนึง ยากองโค ผอ. โรงเรียนต้องใช้เชือกกั้นรอบตัวอาคารประกาศเป็นพื้นที่อันตราย เช่นเดียวกับโรงเรียนอนุบาลเมืองเชียงราย ต.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงราย สภาพเสาคอนกรีตอาคารเรียนแบบ สปช.105/29 ที่แตกร้าว โดยนายสุวิทย์ บุษรากุล ผอ.รร.อนุบาลเมืองเชียงรายต้องเตรียมบูรณาการห้องเรียนรองรับนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2557 แบบปัจจุบันทันด่วน ในขณะที่อาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลเชียงราย (สันต้นเปา) ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย กับร่องรอยแตกลายงาบนพื้นห้องเรียน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสภาพการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สำหรับ “บ้านหลังที่สองของเด็ก ๆ” ที่ยังไม่สามารถมองด้วยตา วัดด้วยความรู้สึกได้ถึงสภาพความมั่นคง ปลอดภัย จนกว่าเจ้าหน้าที่วิศวกรที่ชำนาญการจะเป็นผู้วินิจฉัยฟันธง  

ขณะที่กรมทรัพยากร ธรณีได้ฉายภาพข้อมูลรอยเลื่อนที่มีพลัง (active fault zone) 14 กลุ่มรอยเลื่อนในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี 22 จังหวัด 107 อำเภอ 308 ตำบล และ 1,406 หมู่บ้าน ที่ต้องได้รับผลกระทบ หากรอยเลื่อนดังกล่าวเกิดปฏิ กิริยา “เขย่าและพิโรธ”ขึ้นมา โดยในจำนวน 14 รอยเลื่อนนี้มีถึง 9 รอยเลื่อนที่กระทบชิ่งถึงเชียงรายทั้งในมิติเมนช็อกและอาฟเตอร์ช็อก ประกอบด้วย รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเถินและรอยเลื่อนอุตรดิตถ์

นายปริญญา ณ วันจันทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 ซึ่งรับผิดชอบโครงการภูมิคุ้มกันภัยพิบัติธรรมชาติ กล่าวว่า “ในปีการศึกษา 2557 โรงเรียนนำร่องต้นแบบการฝึกซ้อมแผนภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2556 คือ รร.บ้านห้วยแม่ซ้าย ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย พร้อมโรงเรียนเครือข่ายซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนเป็นจำนวนมาก ได้แก่ รร.อนุบาลเชียงราย รร.บ้านสันโค้ง (เชียงรายจรูญราษฎร์) และรร.บ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) จะดำเนินการบูรณาการและสานต่อหลักสูตรการเรียนการสอนและสื่อการสอนภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะการซ้อมแผนอพยพจากภัยพิบัติเหตุแผ่นดินไหว มีการเรียนรู้ในรูปแบบฐานต่าง ๆ เช่น ฐานเงื่อนช่วยได้ ฐานอาหารยามยากไร้ ฐานสุขอนามัยของร่างกาย ฐานสุขาภิบาลยามฉุกเฉิน ฐานสะพานหนีน้ำและฐานการปฐมพยาบาลเบื้องต้น”

สภาพความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบของโรงเรียนต่าง ๆในพื้นที่เชียงราย อันเป็นผลจากแผ่นดินไหว เมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 จึงเป็นเหตุการณ์ต้นทุน “องค์ความรู้” ไปสู่การเฝ้าระวังปรากฏการณ์เหนือคำพยากรณ์ที่ต้องคลี่แผนปฏิบัติการจัดการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติของสำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ให้เดินเครื่องอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น

นายชุมพล สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยแม่ซ้าย ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย โรงเรียนนำร่องต้นแบบการฝึกซ้อมแผนภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2556 มองว่า  “การให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนควบคู่กับการซ้อมแผนประสบภัยแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายทั้งที่ประสบภัยและไม่ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้  ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้แก่เด็กเป็นรายระดับชั้น คือ ชั้นป.1-2 เน้นให้นักเรียนรู้และทำตาม เน้นการแจ้งครู ผู้ปกครอง เน้นการสังเกตสิ่งบอกเหตุ ชั้นป.3-4 เน้นการเข้าใจในอันตรายของภัยพิบัติและการรักษาชีวิตตนเอง เน้นการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เน้นการให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์การใช้ทรัพยากรและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ระดับชั้น ป.5-6 เน้นให้สามารถป้องกันตนเองจากภัย เน้นการให้สามารถดูแลตนเองและผู้อื่นได้ เน้นให้ศึกษาสาเหตุการเกิดภัยและการเตรียมตัว ชั้นม.1-6 เพิ่มเติมการเน้น

ให้ปฏิบัติตนเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น อาสาสมัคร พี่สอนน้อง ทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถดูแลตนเองและผู้อื่นได้”

ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเชียงรายที่ส่งผลกระทบไปถึงโรงเรียนแหล่งเรียนรู้ “บ้านหลังที่สองของเด็ก ๆ วัยเรียน” ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีแจ้งว่ายังคงมีรอยเลื่อนก่อหวอดและก่อปฏิกิริยาเคลื่อนตัว มีพลังที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างให้ราพณาสูรได้ชั่วพริบตา การเตรียมตัวรับมือและอยู่กับมันอย่างมีสติสัมปชัญญะ เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตตนเองและบุคคลรอบข้างในช่วงนาทีวิกฤติให้ได้ “ความปลอดภัย” ของเด็กนักเรียนกับโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจึงเป็นพันธกรณีต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านบทเรียน “แผ่นดินไหว 6.3 ริคเตอร์” มาแล้ว ที่เหลือก็คือ การต่อยอดและเติมเต็มประสบ การณ์องค์ความรู้ที่ชูธง “ความปลอดภัยชีวิต” เป็นสำคัญ.   

 

ที่มา วันพุธ 11 มิถุนายน 2557 

         


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::