:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

รู้แล้ว..ทำไมต้องกวดวิชา


กำจร" เผยผลสำรวจสาเหตุเด็กเรียนกวดวิชา อยากมีความรู้-สอบแข่งขันได้-ครูสอนไม่เข้าใจ ชี้ต้องปรับระบบการเข้าเรียน แต่ไม่เสนอลดกวดวิชา“


วันนี้ (16 ธ.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. มอบหมายให้ตนวิเคราะห์ว่า ทำไมเด็กถึงชอบเรียนกวดวิชา หรือ เรียนเสริมพิเศษนอกห้องเรียนนั้น ตนได้ให้ทางสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็กและผู้ปกครองที่เรียนกวดวิชาในเขตกรุงเทพฯ โดยใช้คำถามปลายเปิดคือผู้ตอบแบบสอบถามให้เขียนคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถาม ทั้งสิ้น 1,035 คน จำแนกเป็น ระดับประถมศึกษา 429 คน และระดับมัธยมศึกษา 606 คน ผลปรากฏว่า เหตุผลที่ต้องเรียนกวดวิชา อันดับ 1 คือ เรียนเพราะอยากรู้ 83.28%  รองลงมา คือ เรียนเพื่อสอบแข่งขัน 80.58% เรียนเพราะครูสอนไม่เข้าใจ 76.62% และผู้ปกครองบังคับหรือเพื่อนชวน 65.80% รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อไปว่า เมื่อเจาะลึกลงในคำถามเหตุผลที่เรียนกวดวิชา เพราะอยากรู้ ส่วนใหญ่อยากได้ความรู้ใหม่ เพิ่มขึ้น รองลงมา เข้าใจเนื้อหามากขึ้น ได้เรียนก่อนล่วงหน้าที่โรงเรียนจะสอน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และวิชาที่เรียนยากขึ้น ส่วนเหตุผลที่เรียนกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขัน อันดับแรกคือ อยากเรียนเก่ง รองลงมา เพื่อสอบเข้าเรียนในโรงเรียนใหม่หรือคณะที่อยากเรียน อยากได้เกรดดีๆ กลัวสู้เพื่อนไม่ได้ รู้เทคนิคและแนวข้อสอบที่หลากหลาย เป็นต้น สำหรับเหตุผลที่เรียนกวดวิชา เพราะครูสอนไม่เข้าใจ อันดับ 1 คือ เรียนตามไม่ทัน รองลงมา ครูสอนเร็ว ส่วนครูกวดวิชาเก่ง เชี่ยวชาญสอนสนุก และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ช่วยให้การสอนน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และยังมีเหตุผลที่น่าสนใจ คือ เด็กไม่รู้จะไปไหน ก็ไปเรียนกวดวิชา ทั้งนี้ในส่วนการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามเป็นคนละกลุ่ม แต่ก็ได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน “ผมได้สรุปเรื่องดังกล่าว เสนอต่อรมว.ศึกษาธิการแล้ว โดยมีข้อเสนอแนะด้วยว่า การเรียนกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขันเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ทั้งระดับประถมศึกษาเข้ามัธยมศึกษา และ ระดับมัธยมศึกษาเข้าอุดมศึกษา ทำให้ศธ.ต้องกลับมาดูระบบการเข้าศึกษาต่อ โดยเฉพาะการเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งไม่น่าจะแข่งขันทางวิชาการเท่านั้น และไม่น่าแข่งขันเอาเป็นเอาตายกันที่จุดทศนิยม แต่ควรเป็นเกณฑ์การรับคนที่สามารถเรียนต่อได้ ใช้คะแนนความประพฤติเด็กมาประกอบด้วย เช่น คะแนนจิตอาสา คะแนนความดี เพื่อสร้างคนดีเข้าสู่สังคม  อย่างไรก็ตามผมไม่ได้เสนอให้ลดโรงเรียนกวดวิชาเพราะเป็นคนละเรื่องกัน”รศ.นพ.กำจร กล่าว“

 

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 ธันวาคม 2558

 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::