:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

สแกน...ลดเวลาเรียน "3 สัปดาห์"บรรลุเป้า?


"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เป็นนโยบายแรกๆ ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับแต่วันแรกที่เข้ามารั้งตำแหน่งเสมา 1 เมื่อ 3 เดือนก่อน คาดหวังให้เด็กลดการเรียนวิชาการที่หนักเกินไป และหันมาเรียนนอกห้องเรียนเพื่อเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้มากขึ้น

ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเรียนหนัก แต่ผลสัมฤทธิ์สวนทางซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯมา ทุกยุคทุกสมัย มาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุยด้วยความห่วงใยตามเวทีต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาบริหารประเทศ

โดยหลักการ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯเดินมาถูกทาง เพราะเด็กไทยเรียนหนักจริง แถมเนื้อหาแต่ละระดับก็มีบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกัน และที่สำคัญการบ้านมีแทบทุกวิชา แทนที่จะมอบเป็นโครงงานที่

บูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันซึ่งจะช่วยผ่อนภาระเด็ก จะได้มีเวลาไปทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและช่วยงานบ้านพ่อแม่บ้าง

แต่คำถาม คือ แนวทางที่กระทรวงศึกษาฯทำอยู่ ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาแท้จริงแล้วหรือไม่ และที่สำคัญโครงการนี้ประสบความสำเร็จ สร้างความน่าพึงพอใจ 75% ดังที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ประเมินจริงหรือ?

เป็นคำถามที่ชวนขบคิดอย่างมาก...


นักวิชาการและนักบริหารอย่าง ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. มองว่านโยบายการลดเวลาเรียนของ พล.อ.ดาว์พงษ์ น่าเป็นห่วง ไม่ว่ารัฐบาลจะบอกว่าประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ถ้าไปสอบถามครูในพื้นที่ จะพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม เพราะยังเน้นจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหาวิชาเป็นหลัก โดยหลักการเห็นด้วยว่าเด็กไทยเรียนมากเกินไป แต่การลดเวลาเรียนต้องทำอย่างเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะหลักสูตรปัจจุบันจัดการเรียนการสอนโดยเน้นเนื้อหาสาระเป็นหลัก การปรับลำดับแรกจึงควรสร้างหลักสูตรใหม่ที่ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่เรียน

ไม่ต่างจากนักวิชาการฝีปากกล้าอย่าง ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองคล้ายๆ กัน ว่าการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นหนทางที่ทำให้ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จซึ่งหลายประเทศดำเนินการมาแล้ว แต่ถ้าลดเวลาเรียนโดยหลักสูตร การวัดผลประเมินผลและระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่เปลี่ยนแปลงให้ สอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะผลักดันนโยบายนี้ให้สำเร็จ

โดยเฉพาะต้องสร้างความเข้าใจให้ครูและผู้ปกครอง เพราะได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนต่างจังหวัดพบว่าสิ่งที่โรงเรียนบางแห่งทำ คือ ย้ายกิจกรรมที่ทำช่วงเช้ามาอยู่ช่วงบ่าย และแทนที่จะทำกิจกรรมในห้องเรียน ก็ย้ายออกไปทำกลางสนาม ก็ถือว่าทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแล้ว แต่วิชาการก็ยังเรียนหนักเหมือนเดิม สะท้อนว่าโรงเรียนยังตีความคำว่าลดเวลาเรียนไม่ตรงกัน หรืออีกนัยหนึ่งยังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของนโยบายนี้ดีพอ เช่นเดียวกับผู้ปกครอง ที่ทุกวันนี้หลังเลิกทำกิจกรรม ก็พาเด็กไปติววิชาหลัก อาทิ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ หนักขึ้น เพราะวิตกว่าการลดเวลาเรียน จะทำให้ลูกอ่อนวิชาการจนสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ผลจึงตกกับเด็กที่ต้องเรียนหนักขึ้น

นักวิชาการมองด้วยว่าโรงเรียน สังกัด สพฐ.ที่นำร่องโครงการนี้ เป็นโรงเรียนที่พร้อม แต่ถามว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นโรงเรียนทั่วไป 90% พร้อมหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่พร้อม รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องระมัดระวังกับสิ่งที่ข้าราชการรายงาน ครูเคยชินกับวิธีการสอนแบบเดิมๆ มาเป็น 10-20 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ครูจะมาเปลี่ยนวิธีการสอนได้สำเร็จภายใน 3 สัปดาห์

กระทรวงศึกษาฯ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ ต้องมองความสำเร็จของนโยบายที่ยั่งยืน และเล็งผลในทางปฏิบัติที่ยาวนาน เพราะหลายนโยบายที่ผ่านมามักอยู่ไม่นาน ก็ไปพร้อมกับเจ้ากระทรวง แต่หากปรับหลักสูตร ระบบการวัดผลประเมินผล ตลอดจนระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับสร้างความพร้อมให้แก่ครูและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เข้าใจ หลักการที่ถูกต้องตรงกัน ก็เชื่อว่าจะตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาที่คาดหวังให้เด็กไทย "เก่ง ดี มีสุข" ได้ไม่ยาก...

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2558


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::