:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

ระบบท่องจำมาแรง


ขณะที่กระทรวงศึกษาไทยกำลังบ้ากับการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการบังคับให้เด็กในระดับต่างๆ เข้าสอบ อ้างว่าเพื่อนำไปยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย รวมไปถึงการคิดใช้ข้อสอบ พิซา มาให้นักเรียนทำเพื่อหนีอันดับท้ายๆ นานาประเทศ แต่ปรากฏว่ายิ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายหนักขึ้นกว่าเดิม



ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้เอง มีรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาดีที่สุดในโลก คือ ประเทศเกาหลีใต้



ทั้งนี้เป็นการจัดอันดับของเพียร์สัน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ทางการศึกษารายใหญ่ที่สุดของโลกของอังกฤษ ร่วมกับสถาบัน "ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต" (อีไอยู) ในเครือของนิตยสารธุรกิจและวิชาการ 



เพียร์สันได้อ้างอิงข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายแหล่ง ทั้งผลการสอบพิซา การสอบประเมินความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การสอบวัดพัฒนาการความสามารถด้านการอ่านและเขียนระดับนานาชาติ รวมถึงอัตราค่าเล่าเรียนและอัตราการเข้าเรียนของแต่ละประเทศ ใน 39 ประเทศ



10 อันดับแรกนำโดย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟินแลนด์ อังกฤษ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และโปแลนด์ รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 13 สหรัฐอยู่ในอันดับ 14 ใน 3 อันดับท้ายตารางได้แก่ อินโดนีเซีย เม็กซิโก และบราซิล



อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ประเทศอันดับ 1 เกาหลีใต้ ที่ได้ชื่อว่าจัดการศึกษาดีที่สุดในโลกครั้งนี้ เขายังใช้วิธีการเรียนการสอนแบบให้นักเรียนท่องจำถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เน้นการทำข้อสอบ ความมีระเบียบวินัย ชั่วโมงเรียนยาวนาน และอาจมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติม จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลในระยะยาวเพียงใด



ผิดกับฟินแลนด์ มีชั่วโมงเรียนสั้นในแต่ละวัน การบ้านน้อย แต่ให้ความสำคัญกับความเข้าใจของเด็ก และเน้นให้เด็กรู้จักปรับใช้ความรู้ที่มีอยู่มากกว่า



ทำให้รายงานไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าระบบการเรียนแบบไหนดีกว่ากัน แต่สิ่งที่น่าสังเกตประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ อย่างเช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง นั้นสถานภาพทางวัฒนธรรมและสังคมของคุณครูจะมีฐานะดีกว่า 



แล้วไทยแลนด์จะว่าไง ที่สั่งให้เลิกการเรียนการสอนแบบท่องจำตามก้นฝรั่ง โดยไม่ดูตนเอง

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::